top of page

ระบบปรับอากาศสำหรับ Displacement Ventilation (DV)

การจ่ายลมเย็นแบบ Displacement Ventilation (DV)ทำให้การใช้ลมเย็นมีประสิทธิภาพเพราะลมเย็นสัมผัสคนโดยตรง การกระจายอากาศภายนอกมีประสิทธิภาพสามารถลดอัตราการเติมอากาศภายนอกลงได้ถึง20% การระบายอากาศเสียและฝุ่นละอองแขวนลอยมีประสิทธิภาพด้วยการแทนที่อากาศที่มีอุณหภูมิและความหนาแน่นให้ลอยขึ้นดานบนของห้อง  และลดต้นทุนของระบบท่อกระจายลม การควบคุมการทำงานทำโดยควบคุมระดับชั้นความเย็นด้วยการปรับอัตราการส่งลมเย็นแบบVAV(Variable Air Volume)ทำให้สามารถลดการทำงานของพัดลมเครื่องเป่าลมเย็นได้

              ข้อด้อยของการจ่ายลมแบบนี้คือชั้นของลมเย็นมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง มีระดับลมเย็นคลุมปริมาตรห้องที่ความสูงของคน ห้องที่มีความสูงน้อยจึงมีความร้อนถ่ายเทเข้าห้องมากกว่าปกติที่มีความสูงเท่ากันและความร้อนถ่ายเทจะน้อยลงเมื่อความสูงของห้องมากขึ้น เมื่อต้องการควบคุมความชื้นห้องที่มีอัตราความร้อนสัมผัสต่ำ(มีภาระความร้อนแฝงสูง)ต้องควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ของลมเย็นที่จ่ายโดยใช้ความร้อนทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน

              บทความนี้จะเปรียบเทียบระบบปรับอากาศแบบต่างๆและอุปกรณ์ประกอบที่สามารถนำมาใช้กับการจ่ายลมเย็นแบบDVได้แก่ ระบบน้ำเย็น(Chilled water system), ระบบอัดไอ(DX, Direct Expansion), Hot gas by-pass, Low Moisture Fresh Air Unit, ฮีทปั๊มร่วมกับน้ำเย็น และการใช้อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อลดการใช้พลังงานต้องการควบคุมความชื้น

การทำงานของDV

              ลมเย็นจากระบบปรับอากาศส่งเข้าพื้นที่ปรับอากาศในระดับจากพื้นถึงระดับหัวของคนด้วยความเร็วต่ำเพื่อทำให้เกิดชั้นของอากาศเย็น ภาระความร้อนจากคนและแหล่งความร้อนอื่นๆในชั้นลมเย็นจะถ่ายเทให้อากาศโดยรอบทำให้อากาศส่วนนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นและลอยขึ้นด้านบน อากาศด้านบนจะถูกดึงกลับไปที่เครื่องปรับอากาศเพื่อปรับคุณภาพทั้งลดฝุ่นละออง เพิ่มอากาศบริสุทธ์จากภายนอก ปรับอุณหภูมิและความชื้น แล้วจึงส่งกลับมาที่ห้องปรับอากาศ

              ความชื้นซึ่งอยู่ในรูปของความร้อนแฝงและไอจะเกิดและมีผลกับอากาศที่อยู่โดยรอบและลอยขึ้นไปที่ส่วนบนของห้อง ดังนั้นความร้อนแฝงจะเกิดขึ้นเฉพาะในชั้นอากาศเย็นเท่านั้นแต่ความร้อนสัมผัสจะถ่ายเทในทุกระดับของห้อง เมื่อเขียนการทำงานของอากาศเย็นในไซโครเมตริกจึงมีลักษณะตามรูปที่ 1. ซึ่งในชั้นอากาศเย็นมีการถ่ายเทความร้อนแฝง ให้SHRC=0.85และ0.39 ส่วนบนของห้องมีแต่ความร้อนสัมผัสอุณหภูมิจะสูงขึ้นจนถึงอุณหภูมิลมกลับโดยความชื้นไม่เปลี่ยนแปลง

รูปที่ 1. ไซโครเมตริกแสดงอุณหภูมิ่และความชื้นของอากาศในห้อง

จุดจ่ายลมเย็นและจุดลมกลับคำนวณได้จากภาระความร้อนของห้อง(สามารถศึกษาได้จากบทความอ้างอิง 1.) เมื่อSHRCสูงหรือความร้อนสัมผัสมากทำให้เส้นเอียงจากแนวราบน้อย จุดจ่ายลมอยู่ใกล้เส้นความชื้นสัมพัทธ์ 100% มากกว่าเมื่อ SHRCน้อย การทำงานของคอยล์เย็นจะมีจุดที่อากาศออกจากคอยล์มีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ90% จึงมีโอกาสที่จะใช้ลมเย็นจากคอยล์เย็นจ่ายเข้าห้องโดยตรงได้

ระบบน้ำเย็น

              อาคารขนาดใหญ่จะใช้ระบบน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยน้ำสำหรับปรับอากาศในอาคารเนื่องจากเครื่องทำน้ำเย็นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องปรับอากาศระบบอัดไอ จากตัวอย่างในบทความอ้างอิง 1. สำนักงานออกแบบให้อุณหภูมิ 25 Cdb, 55%RH จากภาระความร้อนของห้อง อัตราส่วนความร้อนสัมผัส(SHR, Sensible heat ratio)0.77เมื่อแก้ไขการทำงานภาระความร้อนตามรูปที่ 1.ได้SHRC 0.64 สามารถเขียนการทำงานของระบบปรับอากาศตามเส้น1. ของรูปที่ 2. คอยล์เย็นมีอุณหภูมิADP1=12.7 C เพื่อให้สามารถใช้ระบบน้ำเย็นได้โดยมีฮีทเตอร์ปรับอุณหภูมิมาที่จุดจ่ายลมเย็นSupply อัตราส่วนความร้อนจากฮีทเตอร์/คอยล์เย็น=700/3759=18.6% ถ้าไม่ต้องการให้มีฮีทเตอร์ต้องเปลี่ยนการทำงานของระบบปรับอากาศเป็นเส้นที่2ด้านบน ความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้นเป็น70%ซึ่งยังมีค่าPPD5%เท่ากันแต่ไม่สามารถควบคุมตามข้อกำหนดได้

รูปที่ 2. ไซโครเมตริกแสดงการทำงานของระบบปรับอากาศแบบDVตามตัวอย่างจากบทความอ้างอิง 1.

เนื่องจากอุณหภูมิคอยล์เย็นใกล้กับอุณหภูมิน้ำเย็นซึ่งตามปกติจะออกแบบให้น้ำเย็นออกจากเครื่องทำน้ำเย็น 7 C และกลับเข้าเครื่องทำน้ำเย็นที่อุณหภูมิ 12 C อุณหภูมิคอยล์เย็น 12.7 C จะต้องใช้อัตราการไหลของน้ำเย็นสูงทำให้อุณหภูมิน้ำเย็นออกจากคอยล์เย็นมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้อย ถ้ามีเครื่องปรับอากาศที่ทำงานในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดปัญหากับการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็น(Low Temperature Difference Syndrome) เครื่องทำน้ำเย็นมีประสิทธิภาพ0.6kW/TRหรือCOP=5.76

ระบบอัดไอ

              ในกรณีที่ภาระความร้อนของห้องมีSHRน้อยเนื่องจากมีความร้อนแฝงมาก ค่าSHRน้อยเช่นโรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง สนามกีฬาในร่มซึ่งมีจำนวนคนมากหรือกิจกรรมที่ให้ความร้อนแฝงสูงตามรูปที่ 3. (ตัวอย่างในบทความอ้างอิง2.รูปที่ 9.) พื้นที่แข่งขันแบดมินตันSHR=0.49เมื่อปรับแล้วSHRC=0.43 จำเป็นต้องใช้ฮีทเตอร์ 3300 Wอัตราส่วนความร้อนจากฮีทเตอร์/คอยล์เย็น=3300/16798 =19.6% และมีADP=6.90ไม่สามารถใช้ระบบน้ำเย็นได้เนื่องจากอุณหภูมิคอยล์เย็นต่ำกว่าอุณหภูมิน้ำเย็นที่ส่งมาจากเครื่องทำน้ำเย็น จึงต้องใช้เครื่องปรับอากาศระบบอัดไอซึ่งสามารถทำงานที่อุณหภูมิคอยล์เย็นต่ำได้

รูปที่ 3. ไซโครเมตริกแสดงการทำงานของเครื่องปรับอากาศสำหรับสนามแบดมินตัน

              เครื่องปรับอากาศจะจ่ายลมเย็นที่อุณหภูมิคงที่ คอมเพรสเซอร์จึงเป็นแบบที่ปรับรอบการหมุนเพื่อควบคุมอัตราการไหลของสารทำความเย็นโดยทำงานร่วมกับวาวล์เอ็กซ์แปนด์ชั่นวาวล์อีเลคโทรนิก(EEV, Electronic Expansion Valve)ซึ่งใช้ควบคุมความดันของสารทำความเย็นในอุปกรณ์ของเครื่องปรับอากาศ และเมื่อต้องใช้ฮีทเตอร์เพื่อควบคุมความชื้นจะใช้อุณหภูมิลมเย็นที่ออกจากเครื่องควบคุมฮีทเตอร์แทนและใช้ความชื้นสัมพัทธ์ควบคุมอัตราการไหลของสารทำความเย็น ส่วนอัตราการจ่ายลมเย็นจะปรับด้วยระดับของลมเย็นซึ่งตรวจวัดจากอุณหภูมิที่ระดับที่ต้องการควบคุม

ข้อจำกัดของอุณหภูมิคอยล์เย็นคือจะต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์เพื่อไม่ให้น้ำที่กลั่นตัวกลายเป็นน้ำแข็งที่คอยล์ขวางการไหลของอากาศ ในด้านพลังงานที่ใช้อุณหภูมิคอยล์เย็นต่ำจะทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศลดลง จากการทำงานในรูปที่ 3. เครื่องปรับอากาศระบบอัดไอใช้สารทำความเย็น R-134a ควรมีอุณหภูมิน้ำยาเข้าคอยล์เย็น 3 C และน้ำยาด้านคอยล์ร้อน 50 C เพื่อระบายความร้อนให้อากาศ 35 C อุณหภูมิซับคูล(subcool)=7 C จะมีค่า COP=3.27หรือ 1.07 kW/TR และเมื่อต้องใช้ฮีทเตอร์ก็จะทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกแต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าต้องควบคุมความชื้น การลดการใช้พลังงานของระบบนี้จึงอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะลดพลังงานของฮีทเตอร์ลงได้

Hot Gas Bypass

          เมื่อใช้ระบบอัดไอเพื่อทำความเย็นสามารถใช้ความร้อนที่ต้องระบายกลับมาใช้เพื่อควบคุมความชื้นแทนฮีทเตอร์ โดยแบ่งสารทำความเย็นในสภาพก๊าซร้อนจากทางออกของคอมเพรสเซอร์มาใช้สำหรับการควบคุมความขื้น ความร้อนที่นำมาใช้จะเป็นส่วนหนึ่งของความร้อนที่ต้องระบายดังนั้นจึงยังคงต้องมีคอนเดนเซอร์สำหรับการระบายความร้อนตามรูปที่ 4. การควบคุมใช้วิธีเดียวกันกับระบบอัดไอแต่ใช้วาวล์ควบคุมการลัดสารทำความเย็น(Bypass control valve)เพื่อควบคุมอุณหภูมิลมเย็นแทนการใช้ฮีทเตอร์

รูปที่ 4. การติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ใช้ระบบ Hot Gas Bypass

              อุณหภูมิสารทำความเย็นเข้าคอยล์ร้อนและคอยล์เย็นยังคงเท่าเดิมกับในข้อ”ระบบอัดไอ”แต่มีอุณหภูมิซับคูลมากขึ้นเนื่องจากเมื่อแบ่งสารทำความเย็นไปคอยล์ร้อนเสริม(Auxilliary condenser)ทำให้คอยล์ร้อนเดิมทำงานได้ดีขึ้นและคอยล์ร้อนเสริมใช้อากาศเย็นจากคอยล์เย็นมาระบายความร้อน จึงทำให้ใช้คอยล์เย็นทำความเย็นได้มากขึ้น คอมเพรสเซอร์จึงทำงานน้อยลงและใช้พลังงานน้อยลง อุณหภูมิน้ำยาเข้าคอยล์เย็น 3 C และน้ำยาด้านคอยล์ร้อน 50 C ค่าอุณหภูมิซับคูล(subcool) เพิ่มเป็น12 C จะมีค่า COP=3.44 หรือ 1.02 kW/TR

Low Moisture Content Fresh Air Unit

              ถ้าสนามกีฬาตามรูปที่ 3. ใช้เครื่องเป่าอากาศบริสุทธ์ที่ให้อากาศบริสุทธ์ที่มีความชื้นต่ำ (บทความอ้างอิง 3. รูปที่ 3.) โดยปรับการทำงานของฮีทปั๊มเพื่อให้ได้อากาศบริสุทธ์ 29.8 Cdb, 17.2 Cwb และทำงานร่วมกับAHUควบคุมความชื้นแบบใหม่ตามรูปที่ 5. (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความอ้างอิง 4.) เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอากาศที่ปล่อยเข้าห้องโดยทำงานร่วมกันตามรูปที่ 6.

รูปที่ 5. ผังการสร้างเครื่องส่งลมเย็น(AHU)ควบคุมความชื้นแสดงชุดอุปกรณ์ต่างๆ(บทความอ้างอิง 4. รูปที่ 1.)

รูปที่ 6. ไซโครเมตริกแสดงการทำงานของAHUสำหรับการคุมความชื้นทำงานร่วมกับFAUความชื้นต่ำสำหรับระบบVCสนามแบดมินตัน

              อากาศบริสุทธ์จากFAUที่ให้อากาศบริสุทธ์อุณหภูมิสูงความชื้นต่ำ(จากFAUบทความอ้างอิง3.)ผสมกับลมกลับเข้าคอยล์เย็นของAHU(บทความอ้างอิง 4.)สามารถควบคุมให้ลมเย็นที่ออกจากAHUจ่ายเข้าพื้นที่ได้โดยไม่ต้องใช้ฮีทเตอร์แต่ต้องปรับความชื้นสัมพัทธ์ขึ้นเป็น 62%RHซึ่งยังมีPPD5%มีความสุขสบายในระดับเดียวกัน แต่อุณหภูมิคอยล์เย็นต่ำไม่สามารถใช้คอยล์น้ำเย็นได้ คอยล์เย็นของAHUที่ใช้จึงเป็นระบบอัดไอระบายความร้อนด้วยอากาศภายนอกประสิทธิภาพของเครื่องอัดไอจึงต่ำกว่าHot gas bypass เนื่องจากมีอุณหภูมิซับคูลน้อยกว่า

              ระบบปรับอากาศของอาคารที่มีสัดส่วนความร้อนสัมผัสสูงจากบทความอ้างอิง 3. FAUสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องทำน้ำเย็นด้วยการเพิ่มอุณหภูมิน้ำเย็นที่ผลิตเนื่องจากFCUและAHUในอาคารไม่จำเป็นต้องดึงน้ำจากอากาศมาก FAUใหม่นี้จึงช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานของอาคารและเพิ่มคุณภาพอากาศได้พร้อมกัน สำหรับอาคารที่มีสัดส่วนความร้อนสัมผัสต่ำสามารถปรับการใช้พลังงานโดยรวมได้เช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับการทำงานในสภาพอากาศเดียวกัน

ฮีทปั๊มร่วมกับน้ำเย็น

            ใช้หลักการเดียวกับเครื่องเป่าอากาศบริสุทธ์ที่ให้อากาศบริสุทธ์ที่มีความชื้นต่ำ (บทความอ้างอิง 3. รูปที่ 3.) ใช้คอยล์น้ำเย็นลดอุณหภูมิและความชื้นลงมาระดับหนึ่งเพื่อให้คอยล์เย็นของฮีตปั๊มลดจุดน้ำค้างอากาศลงมาเท่ากับจุดน้ำค้างของอากาศที่จ่ายเข้าพื้นที่แล้วจึงใช้ความร้อนจากคอยล์ร้อนของฮีทปั๊มอุ่นให้มีอุณหภูมิที่จะจ่ายเข้าพื้นที่โดยไม่ต้องใช้คอยล์ร้อนระบายความร้อนให้อากาศภายนอกตามรูปที่ 7.

              ที่AHUอากาศผสมเข้าคอยล์น้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิให้เหมาะสำหรับการทำงานของฮีทปั๊มจึงใช้อุณหภูมิลมเย็นที่จ่ายเข้าพื้นที่ปรับการทำงานของคอยล์น้ำเย็นและใช้ความชื้นสัมพัทธ์ควบคุมการทำงานของคอยล์เย็นฮีทปั๊ม ส่วนระดับลมเย็นในพื้นที่ใช้อุณหภูมิที่ระดับความสูงที่ควบคุมเพื่อปรับการทำงานของพัดลมAHUเพื่อปรับอะตราการส่งลมเย็น

รูปที่ 7. ไซโครเมตริกแสดงการทำงานของAHUที่ใช้ฮีทปั๊มร่วมกับน้ำเย็นสำหรับระบบVCสนามแบดมินตัน

              จากรูปที่ 7. ADPของคอยล์เย็นมีอุณหภูมิต่ำจึงไม่สามารถใช้คอยล์น้ำเย็นเนื่องจากจะทำให้เครื่องทำน้ำเย็นต้องทำน้ำเย็นอุณหภูมิต่ำทำให้ไม่ประหยัดพลังงานของระบบน้ำเย็น การใช้Hot gas bypassจะเหมาะสมกว่า

อุปกรณ์คืนความร้อน energy recovery ventilators (ERVs)

            อุปกรณ์คืนความร้อนแบบอากาศสู่อากาศ(Air to air heat exchanger)ตามรูปที่ 8.แบ่งออกตามการทำงานออกเป็น2แบบได้แก่heat recovery ventilators (HRVs) แลกเปลี่ยนเฉพาะความร้อนจากอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่ามาสู่ด้านที่อากาศมีอุณหภูมิต่ำกว่าโดยความชื้นในอากาศแต่ละด้านไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ถ่ายเทความชื้นผ่านวัสดุ และenergy recovery ventilators (ERVs) สามารถแลกเปลี่ยนได้ทั้งความร้อนสัมผัสและความร้อนแฝงหรือความชื้นสามารถถ่ายเทผ่านวัสดุได้

              วัสดุแลกเปลี่ยนความร้อนของHRVเป็นวัสดุที่ความชื้นไม่สามารถถ่ายเทผ่านแต่บางทำให้ความร้อนสามารถถ่ายเทผ่านได้ได้แก่อลูมิเนียม ทองแดง เหล็กไร้สนิม และอื่นๆ ส่วนERVใช้วัสดุที่ความชื้นสามารถถ่ายเทผ่านได้ ได้แก่เยื่อไม้ และโพลีเมอร์ซึ่งมีประสิทธิภาพเปลี่ยนแปลงตามความเร็วลม ประเภทของประสิทธิภาพแบ่งออกเป็น ประสิทธิภาพความร้อนสัมผัส(Ɛs, sensible efficiency)มีค่า<90% ประสิทธิภาพความร้อนแฝง(Ɛl, latent efficiency), และประสิทธิภาพความร้อนทั้งหมด(Ɛt, total efficiency)มีค่า<85% ซึ่งสามารถกำหนดเพียง Ɛs และ Ɛt ก็เพียงพอสำหรับการคำนวณการทำงานตามสมการต่อไปนี้

Ɛs = (tod-tfa)/(tod-treturn)

Ɛt = (hod-hfa)/(hod-hreturn)

รูปที่ 8. การใช้งานอุปกรณ์คืนความร้อน(ERV)และการสร้างชุดคืนความร้อน 

กรณีของสนามแข่งแบดมินตันต้องการอุณหภูมิความชื้นตามรูปที่ 3. ใช้อุปกรณ์คืนความร้อนERVแลกเปลี่ยนความร้อนและความชื้นระหว่างลมกลับที่จะระบายทิ้งกับอากาศบริสุทธ์ที่จะนำเข้าพื้นที่แล้วจึงใช้ฮีทปั๊มร่วมกับน้ำเย็นจ่ายลมเย็นเข้าพื้นที่ ให้ Ɛs=0.75 และ Ɛt=0.7 สามารถการคำนวณจุดอากาศบริสุทธ์ออกจากERVจากประสิทธิภาพของERVดังนี้

tfa = 36.2 - 0.75x(36.2-26.8) = 29.2

hfa = 84.4 – 0.7x(84.4-54) = 63.1

จากรูปที่ 9. เพื่อให้ฮีทปั๊มให้ความร้อนได้ตามต้องการต้องลดอุณหภูมิคอยล์น้ำเย็น10.3 Cซึ่งค่อนข้างต่ำทำให้ระบบน้ำเย็นมีประสิทธิภาพต่ำจึงไม่ประหยัดพลังงานของระบบน้ำเย็นโดยรวม การใช้Hot gas bypassจะเหมาะสมกว่าโดยใช้คอยล์น้ำเย็นเพื่อลดขนาดของเครื่องปรับอากาศระบบอัดไอให้เหมาะสม

รูปที่ 9. ไซโครเมตริกแสดงการทำงานของAHUที่ใช้ฮีทปั๊มร่วมกับน้ำเย็นและERVสำหรับระบบVCสนามแบดมินตัน

ส่งท้าย

              การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของพื้นที่ที่ใช้ระบบDVจะต้องจ่ายลมเย็นที่มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์คงที่ตามที่คำนวณไว้สำหรับภาระความร้อนสูงสุด เมื่อภาระความร้อนลดลงจะลดอัตราการส่งลมเย็นเพื่อรักษาระดับความสูงของชั้นลมเย็นในพื้นที่ในขณะที่ภาระความร้อนน้อยจึงทำให้ความชื้นสัมพัทธ์เปลี่ยนได้แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อจ่ายลมเย็นจากคอยล์เย็นโดยตรง

              เมื่อภาระความร้อนสัมผัสสูงสามารถใช้คอยล์น้ำเย็นได้โดยใช้ร่วมกับฮีตเตอร์ตามรูปที่ 2.เพื่อการประหยัดพลังงานของระบบน้ำเย็นแต่ต้องออกแบบให้ความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้นโดยมีระดับความสุขสบายเท่าเดิมโดยใช้เครื่องเป่าลมเย็นที่ใช้หลักการผสมอากาศตามเอกสารอ้างอิง 4. เมื่อภาระความร้อนสัมผัสต่ำลงต้องใช้อุณหภูมิคอยล์น้ำเย็นต่ำลงด้วยทำให้เกิดปัญหากับการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็น

เมื่อภาระความร้อนสัมผัสต่ำลงจึงควรใช้เครื่องปรับอากาศระบบอัดไอเนื่องจากสามารถทำอุณหภูมิคอยล์เย็นต่ำได้โดยใช้ร่วมกับฮีทเตอร์เพื่อให้สามารถจ่ายลมเย็นตามต้องกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดแต่ไม่ประหยัดพลังงาน  เพื่อให้ประหยัดพลังงานควรใช้ Hot Gas Bypass แทนการใช้ฮีทเตอร์ แต่เครื่องปรับอากาศระบบอัดไอใช้พลังงานมากกว่าเครื่องปรับอากาศระบบน้ำเย็นจึงต้องลดขนาดของเครื่องปรับอากาศระบบอัดไอให้น้อยที่สุด

โดยปกติการใช้อากาศภายนอกจากเครื่องFAUที่ให้อากาศความชื้นต่ำ(บทความอ้างอิง 3.)แทนการใช้อากาศภายนอกโดยตรงจะช่วยให้คอยล์เย็นมีอุณหภูมิต่ำได้ แต่สำหรับระบบDVที่มีภาระความร้อนสัมผัสต่ำ ถึงจะมีความชื้นต่ำก็ไม่สามารถใช้คอยล์น้ำเย็นได้เนื่องจากอุณหภูมิคอยล์เย็นต่ำ(รูปที่ 6.)จึงต้องใช้เครื่องปรับอากาศระบบอัดไอเท่านั้น

เพื่อลดขนาดของเครื่องปรับอากาศระบบอัดไอจึงใช้ฮีทปั๊มร่วมกับระบบน้ำเย็นโดยใช้อากาศบริสุทธ์จากFAUความชื้นต่ำ แต่อุณหภูมิคอยล์น้ำเย็นต่ำกว่าอุณหภูมิคอยล์น้ำเย็นของFAUมาก(รูปที่ 7.)เนื่องจากต้องลดขนาดของฮีตปั๊มเพื่อให้สามารถใช้ความร้อนควบคุมอุณหภูมิลมเย็นได้พอดี ทำให้ไม่สามารถประหยัดพลังงานของเครื่องทำน้ำเย็นได้ และต้องมีFAUความชื้นต่ำ เมื่อใช้อุปกรณ์คืนความร้อนเพื่อลดภาระความร้อนจากอากาศภายนอกแทนFAUต้องใช้อุณหภูมิคอยล์น้ำเย็นต่ำเช่นเดียวกันตามรูปที่ 9.

เพื่อให้ประหยัดพลังงานของระบบปรับอากาศควรใช้ระบบน้ำเย็นซึ่งมีอุณหภูมิน้ำเย็นสูงขึ้นเพื่อประหยัดพลังงานของเครื่องทำน้ำเย็นโดยออกแบบให้ขนาดเครื่องปรับอากาศระบบอัดไอเล็กลงให้น้อยที่สุดเพื่อใช้ Hot Gas Bypass เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของลมเย็นสำหรับระบบDV

บทความอ้างอิง

1.        บทความเรื่อง”การใช้ Displacement Ventilation (DV)”

2.        บทความเรื่อง”ระบบปรับอากาศสนามกีฬาแบดมินตัน”

3.        บทความเรื่อง“FAUเพื่อช่วยการควบคุมความชื้นในอาคาร”

4.        บทความเรื่อง”AHUควบคุมความชื้นแบบใหม่”

Comments


bottom of page