การปรับอากาศห้องโถง
Updated: Apr 4, 2020
ห้องโถงที่มีความสูง 2 ชั้น มีพื้นที่ส่วนทางเดินด้านบนที่ไม่ปรับอากาศและพื้นที่ด้านล่างที่ปรับอากาศตามรูปที่ 1.สามารถติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ 2 แบบ
รูปที่ 1. โถงปรับอากาศที่มีพื้นที่ต่อเนื่องที่ต้องปรับอากาศและด้านบนของโถงซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องแต่ไม่ปรับอากาศ
แบบที่ 1. แบ่งพื้นที่ปรับอากาศออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นโถงใช้แฟนคอยล์ FC-1 ติดตั้งในฝ้าเพดานของพื้นทางเดินด้านบนเพื่อเป่าลมเย็นให้กับโถง และใช้แฟนคอยล์ FC-2 ส่งลมเย็นให้กับพื้นที่ปรับอากาศที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องของโถงปรับอากาศตามรูปที่ 2
รูปที่ 2. ติดตั้งแฟนคอยล์ FC-1 และ FC-2 ในฝ้าเพดานใต้ทางเดินเพื่อทำความเย็นให้กับพื้นที่ปรับอากาศ
FC-1 ติดตั้งอยู่ในกล่องลมในฝ้าเพื่อแยกอาอากาศในโถงออกจากอากาศในฝ้า ส่วน FC-2.ใช้ท่อลมต่อจากหย้ากากลมกลับมาต่อกับเครื่องแล้วส่งลมเย็นผ่านท่อลมมาที่หัวจ่ายลม ทั้งสองวิธีแยกอากาศของห้องปรับอากาศออกจากอากาศในช่องฝ้า ข้อดีของการใช้กล่องลมคือถ้ามีขนาดใหญ่พอจะสามารถบำรุงรักษาเครื่องได้จากในกล่องลมได้โดยไม่ต้องถอดเครื่อง แต่ข้อเสียในทางปฏิบัติคือความประณีตในการทำกล่องลมไม่ดีพอทำให้อากาศในฝ้ารั่วเข้ามาในกล่องลมนำความสกปรกและภาระความร้อนเพิ่มให้กับระบบปรับอากาศ เครื่องจึงทำงานหนักกว่าที่ควรบางกรณีไม่สามารถทำความเย็นได้ตามต้องการ การใช้ท่อลมต่อจากหน้ากากลมกลับมาที่เครื่องโดยตรงจะป้องกันการปนเปื้อนอากาศในฝ้าได้ดีที่สุดแต่จะใช้กับเครื่องที่มีตัวถังสำหรับรับท่อลมกลับได้เท่านั้นจึงมีราคาสูงกว่าและจะต้องถอดท่อลมและฝ้าเพื่อการบำรุงรักษา
แบบที่ 2. แบ่งพื้นที่ปรับอากาศออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นโถงใช้แฟนคอยล์ FC-1 ติดตั้งในฝ้าเพดานของหลังคาเพื่อเป่าลมเย็นให้กับโถง และใช้แฟนคอยล์ FC-2 ส่งลมเย็นให้กับพื้นที่ต่อเนื่องของโถงปรับอากาศตามรูปที่ 3.
รูปที่ 3. ติดตั้งแฟนคอยล์ FC-1 ในฝ้าใต้หลังคา และ FC-2 ในฝ้าเพดานใต้ทางเดินเพื่อทำความเย็นให้กับพื้นที่ปรับอากาศ
FC-1 ติดตั้งอยู่ในกล่องลมในฝ้าเนื่องจากระดับฝ้าสูงการบำรุงรักษาเครื่องจำเป็นต้องทำงานภายในกล่องท่อลม แต่มีโอกาสที่จะมีอากาศในช่องฝ้ารั่วเข้ากล่องลมได้มากเนื่องจากช่างติดตั้งต้องการทำงานในที่สูงจึงไม่สามารถทำงานอย่างประณีตเหมือนในระดับใกล้พื้นได้และคนตรวจสอบงานก็ไม่สามารถตรวจสอบได้สะดวก จึงมีโอกาสที่กล่องลมจะรั่วอย่างมาก และการบำรุงรักษาก็ทำได้ยากนอกจากจะมีทางเข้ากล่องลมได้จากด้านบน
สรุปความแตกต่าง
แบบที่ 1. ลมจ่ายและลมกลับ จ่ายและกลับจากพื้นที่ปรับอากาศโดยตรง การควบคุมอุณหภูมิทำได้ง่ายกว่าและประหยัดกว่า ภาระความร้อนของเครื่องปรับอากาศเป็นเฉพาะความร้อนที่เกิดและถ่ายเทเข้าพื้นที่ปรับอากาศเท่านั้น การเป่าลมเย็นเข้าโถงจะมีการผสมกับอากาศส่วนบนของโถงซึ่งไม่ต้องการปรับอุณหภูมิบ้างทำให้ภาระความร้อนของเครื่องเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อากาศด้านบนโถงและทางเดินที่ไม่ปรับอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจะแยกจากอากาศเย็นในพื้นที่ปรับอากาศด้านล่าง
แบบที่ 2. เมื่อ FC-1 ติดตั้งอยู่ในฝ้าใต้หลังคา ลมกลับคือลมร้อนในพื้นที่ไม่ปรับอากาศของโถงด้านบนทางเดินด้านบน และอากาศในฝ้าที่รั่วไหลเข้ากล่องลม ภาระความร้อนของเครื่องจึงมากกว่าแบบที่ 1. ลมเย็นที่ปล่อยลงมาที่พื้นที่ปรับอากาศด้านล่างจะผสมกับอากาศส่วนบนของโถงทำให้ลมที่จ่ายลงมาที่พื้นที่ปรับอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงทำความเย็นในพื้นที่ปรับอากาศได้ช้าลงและอาจไม่เย็นตามต้องการ พื้นที่ที่ไม่ปรับอากาศได้แก่ทางเดินและโถงด้านบนจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าที่จำเป็น เครื่องปรับอากาศต้องมีขนาดใหญ่เพื่อรับภาระความร้อนของพื้นที่ไม่ปรับอากาศนี้ด้วย
โดยธรรมชาติ อากาศร้อนจะมีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศเย็น อากาศร้อนจึงลอยขึ้นด้านบน เมื่อเปิดประตูอากาศเย็นในพื้นที่ปรับอากาศจะไหลออกทางด้านล่างของประตูโดยอากาศร้อนจะไหลเข้าแทนที่อากาศที่ไหลออกทางด้านบนของประตู อากาศร้อนที่เกิดจากภาระความร้อนในอาคารจะลอยขึ้นไปด้านบนเช่นเดียวกัน อากาศที่กลับเข้า FC-1 สำหรับแบบที่ 2. จึงมีอุณหภูมิสูงตลอด
ถ้าปิด FC-2. อากาศเย็นจากโถงจะไหลมาทำความเย็นในพื้นที่ต่อเนื่อง อากาศร้อนในพื้นที่จะถูกไล่ไปที่โถง เครื่องทำความเย็นจึงจะไม่สามารถทำความเย็นได้ เมื่อต้องใช้งานโถงจะต้องเปิดเครื่องปรับอากาศของพื้นที่ต่อเนื่องด้วย หรือต้องเผี่อขนาดเครื่อง FC-1 ให้สามารถรับภาระความร้อนของพื้นที่ต่อเนื่องด้วย
Comments